วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

108 เส้นทางออมบุญ พระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พระบาทหลวง) จันทบุรี


พระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พระบาทหลวง) จันทบุรี

บนยอดเขาคิชฌกูฏ ที่อยู่สูงเทียมเมฆนั้น เป็นที่ประดิษฐานของรอยพระพุทธบาทที่อยู่สูงที่สุดในประเทศไทย สูงกว่า 1,050 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งสูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ทุกๆปีในช่วงที่เปิดให้มีการขึ้นนมัสการรอยพระพุทธบาทนั้น จะมีพุทธศาสนิกชนจาริกแสวงบุญมายังยอดเขาแห่งนี้เป็นจำนวนมาก เพื่อมาสักการะแผ่นหินซึ่งเชื่อว่าพระพุทธองค์ทรงมาประทับรอยพระบาทไว้ ด้วยความศรัทธาและความเชื่อในอานิสงส์ที่แรงกล้าว่าการได้นมัสการรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ถือเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัวและชีวิต
รอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ มีลักษณะเป็นรอยบนหินแผ่นใหญ่ มีรอยบุ๋มลึกประมาณ 2 เมตรเศษ กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ค้นพบที่ยอดเขาพระบาทห่างจากที่ทำการอุทยานเขาคิชฌกูฏราว 4 กม. และต้องเดินเท้าไปสู่ยอดเขาอีกราว 3 กม. มีประวัติว่ารอยพระพุทธบาทนี้ได้ค้นพบโดยนายพรานหาของป่า ที่เดินขึ้นไปบนเขาคิชฌกูฏเมื่อปี พ.ศ.2397 ซึ่งได้พบกับแหวนนาคขนาดใหญ่ และแผ่นหินที่มีรูปก้นหอยเหมือนรอยเท้าและได้แจ้งให้กับหลวงพ่อเพชรเจ้าคณะจังหวัดทราบ เมื่อตรวจสอบดูก็พบรอยพระพุทธบาทนั้นจริงชาวบ้านต่างก็พากันขึ้นมานมัสการจนกลายเป็นประเพณีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้
ในบริเวณยอดเขาคิชฌกูฏนั้นยังมีความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับตำนานและความเชื่อทางพระพุทธศาสนา เช่นก้อนหินขนาดใหญ่มีรูปคล้ายกับบาตรพระคว่ำ ใกล้กับหินรูปรอยพระพุทธบาท ศิลาเจดีย์รอยพระหัตถ์ รอยเท้าพญามาร ถ้ำฤๅษี ลานแข่งรถพระอินทร์ หินที่มีรูปร่างคล้ายเต่า และช้างขนาดยักษ์เป็นต้น
เดิมทีนั้นพระพุทธบาทแห่งนี้เป็นที่รู้จักอีกชื่อว่าพระบาทพลวง แต่ในปี พ.ศ.2515 พระครูธรรมสรคุณผู้เป็นหลักในการพัฒนาพระบาทพลวง ได้เสนอให้นำชื่อของเขาคิชฌกูฏจากพุทธประวัติมาใช้เป็นชื่อของภูเขาที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงราชคฤห์ ซึ่งคันธกุฎีเคยเป็นสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าในอดีต และตั้งอยู่บนยอดเขานั้นมาใช้ เพื่อเป็นที่รำลึกถึงพระองค์และแสดงถึงความเจริญในพระพุทธศาสนาอย่างสูงส่งของประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น